ยาเสพติดให้โทษ

ยาเสพติดให้โทษ

              ยาเสพติดให้โทษเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามเพื่อขจัดให้หมดสิ้นไป ปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง โดยการเร่งปราบปรามผู้ผลิต ผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง เพิ่มมาตรการในการควบคุมตัวสารสำคัญและสารประกอบที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด รวมทั้งเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด นอกจากนี้หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งได้ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดมากขึ้น ซึ่งสามารถบรรเทาปัญหายาเสพติดในประเทศไปได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามยาเสพติดเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานาน การปราบปรามยาเสพติดวิธีเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด การสร้างภูมิความรู้ให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนให้ทราบและตระหนักถึงภัยร้ายของยาเสพติด รวมทั้งการปลูกฝังหรือสร้างค่านิยมให้ต่อต้านยาเสพติดจึงเป็นการป้องกันปัญหายาเสพติดได้อีกวิธีหนึ่ง

ยาเสพติดให้โทษ คืออะไร 

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมยาเสพติดให้โทษของประเทศไทย ได้ให้นิยามของยาเสพติดให้โทษไว้ว่า หมายถึง สารเคมีหรือวัตถุใดๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยวิธีใดตาม เช่น รับประทาน สูบ ดมหรือฉีดแล้ว จะก่อให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจที่สำคัญ 4 ประการ คือ

          1. มีความต้องการเสพสารนั้นอย่างรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจ

          2. ต้องเพิ่มขนาดหรือปริมาณการเสพสารนั้นมากขึ้นเป็นลำดับ

          3. เมื่อหยุดเสพสารนั้นจะเกิดอาการถอนยา

          4. สุขภาพของผู้เสพสารนั้นเป็นเวลานานจะทรุดโทรมลง

การควบคุมยาเสพติดให้โทษ โดยทั่วไปยึดถือหลักในการพิจารณาว่า ตัวยานั้นทำให้เกิดการเสี่ยงต่อการติดยาของประชากรในระดับรุนแรงอย่างไร และประโยชน์ของยาในการรักษาโรคมากน้อยเพียงใด ซึ่งจากหลักการดังกล่าว พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้จัดประเภทของยาเสพติดให้โทษออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

           ประเภทที่1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เป็นยาที่ไม่มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์ และทำให้เกิดการเสี่ยงต่อการติดยาของประชากรในระดับรุนแรง เช่น เฮโรอีน ยาบ้า ยาอี เป็นต้น
           ประเภทที่2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป เป็นยาที่มีประโยชน์ในการรักษาโรคในระดับน้อยจนถึงมาก และทำให้เกิดการเสี่ยงต่อการติดยาของประชากรในระดับที่ต้องพึงระวัง เช่น มอร์ฟีน โคเคน โคเดอีน เป็นต้น
           ประเภทที่3 ยาเสพติดให้โทษที่มียาเสพติดให้โทษในประเภท2 เป็นส่วนผสมอยู่ด้วย ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับไว้ เป็นยาที่ทำให้เกิดการเสี่ยงต่อการติดยาของประชากรน้อย แต่ยังคงมีอันตราย และมีประโยชน์มากในการรักษาโรคเช่น ยาแก้ไอผสมโคเดอีน เป็นต้น
           ประเภทที่4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท1 หรือประเภท2 เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์(Acetic Anhydride) อาเซติลคลอไรด์ (Acetyl Chloride)
           ประเภทที่5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้อยู่ในประเภทที่1 ถึงประเภทที่4 เช่น กัญชา พืชกระท่อม เห็ดขี้ควาย เป็นต้น

ยาเสพติดที่แพร่ระบาดในประเทศไทย

           ยาเสพติดก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมต่อทุกประเทศทั่วโลกในลักษณะเดียวกัน เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการลักขโมย ปัญหาครอบครัว เป็นต้น แต่ชนิดของยาเสพติดที่เป็นต้นเหตุของปัญหานั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย ยาเสพติดที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงอยู่ในปัจจุบันมี 6 ชนิด ซึ่งมีรายละเอียด รูปลักษณะ อาการของผู้เสพ และอันตรายของยาเสพติดแต่ละชนิดดังต่อไปนี้

  1. ยาบ้า

           ยาบ้า เป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่มีชื่อว่า เมทแอมเฟตามีน ยาบ้าที่ลักลอบจำหน่ายกันอยู่ในปัจจุบันมีลักษณะเป็นยาเม็ดสีส้ม สีน้ำตาล หรือสีเขียว ด้านหนึ่งของเม็ดยาจะมีสัญลักษณ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ “wy” ส่วนอีกด้านจะเป็นรอยขีดแบ่งครึ่งเม็ด ในยาบ้า 1 เม็ด จะมีสารเมทแอมเฟตามีนประมาณ 25 – 30 มิลลิกรัม อาจเสพโดยการกิน เผาไฟแล้วสูบควัน หรือฉีดเข้าหลอดโลหิตดำ
ยาบ้าจะออกฤทธิ์ไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง อันได้แก่ สมองและไขสันหลัง ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น อัตราการหายใจถี่ขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น ม่านตาขยายกว้างขึ้นและไม่รู้สึกหิว นอกจากนั้น ผู้ใช้ยาจะมีเหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว และนอนไม่หลับ ถ้าเสพยาเข้าไปในปริมาณมาก จะมีอาการหัวใจเต้นรัวผิดปกติ เนื้อตัวสั่นเทา ทรงตัวไม่ได้ และสิ้นสติ ถ้าเสพเข้าไปในปริมาณที่มากเกินกว่าร่างกายจะทนรับไหว จะทำให้เกิดอาการหัวใจวายตาย
นอกจากนี้ ยาบ้ายังทำให้เกิดอาการผิดปกติทางจิตและประสาทด้วย โดยผู้เสพยาบ้าจะมีอาการรู้สึกสับสน หงุดหงิด วิตกกังวลใจ และนอนไม่หลับ อาการดังกล่าวจะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อเสพยามากขึ้น การเสพยาบ้าในปริมาณมากๆหรือเสพติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆจะทำให้ผู้เสพกลายเป็นคนวิกลจริต โดยจะมีอาการเพ้อคลั่ง มองเห็นภาพหลอน หูแว่ว และหวาดระแวง หลงผิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้เสพยาบ้าหันไปทำร้ายผู้อื่นเสมอ

 2. เฮโรอีนและอนุพันธ์ของฝิ่นชนิดอื่นๆ

                เฮโรอีนเป็นยาเสพติดที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมีที่ทำมาจากมอร์ฟีนซึ่งได้มาจากฝิ่น เฮโรอีนมีลักษณะเป็นผงสีขาว มีรสขมจัด ไม่มีกลิ่น ละลายน้ำได้ง่าย เฮโรอีนสามารถเสพโดยการนำไปละลายน้ำแล้วฉีดเข้าหลอดโลหิตดำ หรือนำไปยัดใส่ในมวนบุหรี่แล้วสูบ หรือนำไปลนไฟแล้วสูดไอระเหยเข้าปอด เฮโรอีนเป็นยาเสพติดที่ร้ายแรงและติดง่ายที่สุด
เมื่อเสพเฮโรอีนหรือยาเสพติดที่เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น เช่น มอร์ฟีน เข้าไปแล้ว ผู้เสพจะมีอาการเคลิบเคลิ้มมึนเมา ลืมความทุกข์ในจิตใจไปชั่วขณะ เนื่องจากเฮโรอีนและอนุพันธ์ของฝิ่นชนิดอื่นๆมีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ผู้เสพยาพวกนี้จึงมีอาการง่วงซึม ม่านตาหรี่ลงเล็กน้อย ตาแฉะ ในผู้ที่เสพยาพวกนี้ครั้งแรก อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเกิดขึ้นได้
เฮโรอีนหรือยาที่เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น เป็นยาเสพติดที่มีฤทธิ์รุนแรง หากเสพมากเกินไปจนร่างกายทนไม่ไหว การทำงานของระบบการหายใจจะถูกกด ทำให้หายใจแผ่วและตื้น ผิวกายเย็นชื้น ชัก สลบ และเสียชีวิตเนื่องจากระบบการหายใจล้มเหลว
คนที่ติดเฮโรอีนหรือยาชนิดอื่นที่เป็นอนุพันธ์ของฝิ่นจะมีร่างกายซูบซีด ผอมเหลือง มีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เมื่อขาดยาจะมีอาการหงุดหงิด ทุรนทุราย หาว เหงื่อออกมาก เบื่ออาหาร ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน ชักจนหมดสติ และถ้าร่างกายอ่อนแอก็อาจจะถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

 3. โคเคน

               โคเคนเป็นสารเคมีที่สกัดมาจากใบของต้นโคคา ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่เจริญงอกงามอยู่บนภูเขาสูงในทวีปอเมริกาใต้ โคเคนเป็นยาเสพติดที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทอย่างรุนแรง มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว นิยมเสพโดยการสูดผงยาเข้าโพรงจมูก มีอยู่ส่วนน้อยที่เสพโดยนำโคเคนไปละลายน้ำ แล้วฉีดเข้าหลอดโลหิตดำ
โคเคนทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกายได้ภายในเวลา 10 วินาที อาการผิดปกติ ได้แก่ ม่านตาขยายกว้างขึ้นกว่าปกติ ความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจถี่ และอุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นสูงกว่าปกติ หากเสพโคเคนมากเกินไปจนร่างกายทนไม่ไหว ผู้เสพมักจะเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย หรือระบบการหายใจล้มเหลว
นอกจากนี้ โคเคนยังทำให้เกิดอาการผิดปกติทางจิตและประสาทด้วย โดยโคเคนมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มมึนเมาเป็นระยะเวลาสั้นๆประมาณ 20 – 90 นาที ต่อจากนั้น จะตามด้วยอาการกระสับกระส่าย กังวลใจอย่างรุนแรง ร่างกายอ่อนล้า และจิตใจหดหู่ หากเสพโคเคนเข้าไปมากๆหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน ผู้เสพจะมีอาการเพ้อคลั่ง หวาดระแวงกลัวคนอื่นจะมาทำร้าย มีอาการประสาทหลอนทางกลิ่น รสและสัมผัส อาการดังกล่าวจะค่อยๆลดระดับความรุนแรงลงเมื่อหยุดเสพโคเคน

4. ยาอี

          ยาอีเป็นสารสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์ทั้งกระตุ้นประสาทและหลอนประสาท ซึ่งเด็กวัยรุ่นนิยมใช้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเด็กวัยรุ่นที่ชอบมั่วสุมกันตามดิสโก้เธค หรือสถานที่ฟังเพลงและเต้นรำที่ๆมีการเปิดเพลงเสียงดัง ทั้งนี้เพราะผู้ที่เสพยาอีจะชอบเสียงดัง
ยาอีที่แพร่ระบาดในประเทศไทย จะมีลักษณะเป็นเม็ดกลมแบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.7 – 0.8 เซนติเมตร ความหนาของเม็ดยาประมาณ 0.4 – 0.5 เซนติเมตร สีของเม็ดยาจะเป็นสีอ่อนๆ เช่น เขียวอ่อน เหลืองอ่อน ฟ้าอ่อน เทาอ่อนหรือชมพูอ่อน ไม่ค่อยพบเม็ดยาที่มีสีเข้มๆ สัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเม็ดยาจะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น รูปนก ผีเสื้อ ตัวการ์ตูน หัวใจ ดวงดาว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือตัวอักษรภาษาอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่เคยนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์บนเม็ดของยารักษาโรค
ยาอีเสพด้วยการกิน เมื่อกินแล้วจะเกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย ได้แก่ หัวใจจะเต้นแรงและเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น อัตราการหายใจถี่ขึ้น อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นเหมือนคนเป็นไข้ เหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว และอาจถึงกับเป็นลมหมดสติ
นอกจากนี้ ยาอียังทำให้เกิดอาการประสาทหลอนขึ้นมาด้วย ผู้เสพจะมีความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น การได้ยิน และการสัมผัส ชอบฟังเพลงเสียงดัง ชอบดูแสงสีที่วูบวาบบาดตา และชอบให้คนมาสัมผัสเล้าโลม แต่เมื่อยาหมดฤทธิ์ลง ผู้เสพจะมีอาการวิตกกังวลผสมกับอาการซึมเศร้า
ยาอีมีฤทธิ์ทำลายเซลล์ประสาทสมอง แม้จะกินเข้าไปเพียงเล็กน้อย ผู้ที่เสพยาอีจึงมักมีระดับสติปัญญาและผลการเรียนรู้ต่ำกว่าคนปกติทั่วไป

5. ยาแก้ไอผสมโคเดอีน

               โคเดอีนเป็นสารประกอบจำพวกอัลคาลอยด์ที่มีอยู่ในฝิ่นประมาณร้อยละ 0.7 – 2.5 โดยน้ำหนัก ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากจนไม่สามารถผลิตเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ปัจจุบันโคเดอีนที่ใช้ในทางการแพทย์ได้จากการสังเคราะห์จากฝิ่น
โคเดอีน ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง มีฤทธิ์ระงับปวดและระงับอาการไอ โดยออกฤทธิ์ที่ก้านสมองซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอาการไอ จึงนิยมใช้ผลิตเป็นยาแก้ไอ แต่ยาแก้ไอผสมโคเดอีนที่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด และแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ยาแก้ไอผสมโคเดอีนชนิดน้ำ
วัยรุ่นนิยมเสพยาน้ำแก้ไอผสมโคเดอีนด้วยการดื่มโดยไม่ต้องเจือจาง หรือดื่มโดยผสมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งทำให้เกิดผลต่อร่างกาย ได้แก่ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ใจสั่น มีอาการมึนงง หายใจและถ่ายปัสสาวะลำบาก หากเป็นพิษโดยเฉียบพลัน อาจทำให้เกิดการชัก เพ้อคลั่ง ชีพจรเต้นช้า หัวใจเต้นเร็ว ไม่รู้สึกตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ระบบการหมุนเวียนในร่างกายล้มเหลว ระบบการหายใจเป็นอัมพาต เกิดภาวะหยุดการหายใจและตายได้
การใช้โคเดอีนในระยะยาว อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้า ขาดสมาธิ ง่วงนอนและหลับได้ ท้องผูกอย่างรุนแรง และทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศด้วย และหากใช้ในปริมาณที่สูงจะทำให้เกิดอาการสั่นและชักได้

6. กัญชา

                กัญชาเป็นพืชล้มลุก ส่วนที่นำมาใช้เสพคือ ช่อดอกตัวเมียและใบที่ติดมากับช่อดอก โดยนำมาตากหรืออบให้แห้ง แล้วนำไปบดหรือหั่นเป็นฝอยหยาบๆแล้วจึงนำไปมวนสูบโดยผสมกับบุหรี่ หรืออาจจะสูบจากกล้องยาสูบ หรือบ้องกัญชาก็ได้
กัญชาทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ ผลเสียที่เกิดขึ้นต่อร่างกายทันทีได้แก่ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ตาแดงก่ำเนื่องจากเส้นเลือดฝอยขยายตัวหรือแตก ปากแห้ง คอแห้ง และอยากอาหาร
การสูบกัญชาจะส่งผลต่อระบบความจำ ทำให้เกิดภาวะความจำเสื่อม ความเฉลียวฉลาดลดลง การรับรู้เรื่องระยะทางและเวลาผิดปกติ ความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้สมาธิ เช่น การขับขี่ยวดยานจะมีประสิทธิภาพลดลง แรงจูงใจและการใฝ่เรียนรู้ลดลง นอกจากนั้น การสูบกัญชามากๆอาจส่งผลให้เกิดอาการประสาทหลอนและวิกลจริต
ในการสูบกัญชา ผู้สูบมักจะเอาควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของกัญชาเข้าไปในปอด แล้วพยายามกักเอาควันไว้ในปอดให้นานที่สุด ก่อนจะผ่อนลมหายใจออกมา และเนื่องจากในควันของกัญชามีสารเคมีที่เป็นพิษมากกว่าควันบุหรี่ ฉะนั้น ผู้ที่สูบกัญชาจึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคถุงลมโป่งพองและมะเร็งสูงกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ และการสูบกัญชาเป็นประจำจะทำให้เกิดการเสพติดทางจิตใจ ต้องเพิ่มปริมาณกัญชาที่สูบและความถี่ในการสูบขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะอาการของผู้ติดยาเสพติด

           ผู้ติดยาเสพติดให้โทษจะมีสภาพทางกายและทางจิตใจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งสามารถสังเกตได้อย่างง่ายๆ

           1. การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย สุขภาพทรุดโทรม ซูบผอม อ่อนเพลียง่าย ริมฝีปากเขียวคล้ำ ตาแดงกล่ำ รูม่านตาขยาย น้ำมูกไหล ผิวหนังหยาบกร้านเป็นแผลพุพอง ชอบใส่เสื้อแขนยาวและสวมแว่นตาดำ หากขาดยาหรืออดยา จะหาวนอนบ่อย จามคล้ายคนเป็นหวัด น้ำมูกน้ำตาไหล กระวนกระวาย ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตาพร่าไม่สู้แดด มีอาการสั่น เกร็ง เพ้อ คุ้มคลั่ง

             2. การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ นิสัยและบุคลิกภาพ เป็นคนเจ้าอารมณ์ หงุดหงิดง่าย ขาดเหตุผล ไม่มีความรับผิดชอบต่อการเรียนหรือการงาน ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง พูดไม่อยู่กับร่องกับรอย มักเก็บตัว ชอบทำตัวลึกลับ ไม่สนใจความเป็นอยู่ของตนเอง เกียจคร้าน นอนตื่นสายผิดปกติ มีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า

โทษของยาเสพติดให้โทษ

         ยาเสพติดให้โทษ ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้เสพโดยตรงและส่งผลกระทบต่อครอบครัว ผู้ใกล้ชิด และประเทศชาติอย่างมากมาย ดังนี้

          1. ผลต่อผู้เสพ ยาเสพติดทำให้สุขภาพของผู้เสพติดเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ความต้านทานโรคน้อยกว่าปกติ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ส่วนมากมักจะเป็นโรคผิวหนัง โรคทางเดินอาหาร วัณโรค อารมณ์แปรปรวนง่าย ซึมเศร้า วิตกกังวล บุคลิกภาพสูญเสีย

           2. ผลต่อครอบครัว ผู้ติดยาเสพติดจะขาดความรับผิดชอบต่อครอบครัว ไม่ห่วงใยดูแลครอบครัว เป็นภาระของครอบครัว ทำให้ครอบครัวแตกแยก ขาดความอบอุ่น และอาจจะเป็นตัวอย่างหรือเป็นสาเหตุทำให้สมาชิกในครอบครัวหันไปเสพยาเสพติดได้

            3. ผลต่อเศรษฐกิจและสังคม การที่มียาเสพติดแพร่ระบาดในประเทศ ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณและเจ้าหน้าที่จำนวนมากในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และตัวผู้เสพก็มีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมด้วยการก่ออาชญากรรม ลักเล็กขโมยน้อย หรือทำให้เกิดอุบัติเหตุต่างๆ ซึ่งผลกระทบของปัญหาเหล่านี้อาจมีความรุนแรงจนนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติได้
สาเหตุของการติดยาเสพติด

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดยาเสพติด มี 3 ประการ คือ

              1. ตัวสารและฤทธิ์ของสาร สารที่ก่อให้เกิดการเสพติด เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เช่น เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เฮโรอีน เป็นต้น เมื่อผู้เสพเริ่มทดลองใช้และได้รับฤทธิ์ของยาเสพติดแล้วพึงพอใจก็จะเสพซ้ำจนเกิดการติดยาได้

               2. ตัวผู้เสพ การที่ผู้เสพหันไปเสพยาเสพติดนั้น อาจมีสาเหตุมาจาก

                   - สภาพร่างกาย เช่น ผู้ที่มีอาการป่วยซึ่งต้องใช้ยาเสพติดในการบำบัดรักษา จนนำไปสู่การติดยาเสพติดนั้น เป็นต้น

                   - สภาพจิตใจ ผู้ที่มีอารมณ์วู่วาม เปลี่ยนแปลงเร็ว ขาดความมั่นใจ มักจะหันเข้าหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว ส่วนผู้ที่มีสุขภาพจิตรวนเร มีความวิตกกังวลตลอดเวลา ก็จะถูกชักจูงให้เสพยาเสพติดได้ง่าย และผู้ที่ขาดความอบอุ่น หรือมีปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ การงาน ก็จะใช้สิ่งเสพติดเป็นเครื่องปลอบใจดับความว้าวุ่นทางจิตใจให้น้อยลง

                  3.สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมมีส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นหรือชักนำให้หันไปเสพยาเสพติด เช่น อาจเกิดจากการอยากทดลองเนื่องจากเพื่อนหรือผู้ใกล้ชิดเสพและชักชวนให้เสพ หรือเกิดจากการคึกคะนองในช่วงวัยรุ่น และส่วนใหญ่เกิดจากสภาพครอบครัวที่มีปัญหา

การแก้ไขปัญหายาเสพติด

               ดังที่กล่าวแล้วว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน การแก้ไขปัญหาจึงควรต้องดำเนินการพร้อมๆกันหลายวิธี ดังนี้

             1. ป้องกัน การป้องกันอาจทำได้หลายวิธี ได้แก่

                     - การสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญา คือการให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เช่น โทษและอันตรายของยาเสพติด รูปลักษณะของยาเสพติด การป้องกันตนเองให้พ้นจากยาเสพติด เป็นต้น

                     - การส่งเสริมสถาบันครอบครัว คือการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกคนเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว ความรัก ความอบอุ่นและความเอาใจใส่ของคนในครอบครัวจะมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเสพยาเสพติดได้เป็นอย่างมาก และควรสนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวหันไปสนใจในเรื่องกีฬาและออกกำลังกายในยามว่าง จะได้มีสุขภาพดี อารมณ์แจ่มใส และไม่ไปสนใจกับยาเสพติด

                     - การป้องกันมิให้มีการลักลอบผลิตและจำหน่ายยาเสพติด คือการควบคุมสารสำคัญและสารประกอบที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษอย่างเข้มงวด มีการกำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง

                2. ปราบปราม การปราบปรามผู้ที่ลักลอบผลิต นำเข้าและจำหน่ายยาเสพติดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การตั้งสินบนรางวัลนำจับแก่ผู้ให้เบาะแสและผู้จับกุมผู้กระทำผิด และมีการลงโทษแก่ผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง

                3. บำบัดรักษา ผู้ที่เสพยาเสพติดที่ต้องการจะเลิกเสพยา ทางการแพทย์และทางราชการให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ป่วย สามารถเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลรักษาผู้ติดยาเสพติดทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพจนหายแล้ว ก็จะสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และเป็นคนดีของสังคมต่อไป

บทลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย

              เพื่อเป็นการป้องปรามผู้กระทำผิดหรือผู้ที่คิดจะกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ รัฐบาลจึงได้กำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดไว้ ซึ่งจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการกระทำผิดที่พบ พอสรุปได้ดังนี้

ประเภทของยาเสพติดให้โทษ
การกระทำผิด
บทลงโทษ
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1
(เช่น เฮโรอีน ยาบ้า ยาอี ฯลฯ )
ผลิต นำเข้า หรือ ส่งออกบทลงโทษสูงสุดคือประหารชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 4 ปี  ตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ 80,000 บาท 5,000,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายบทลงโทษสูงสุดคือประหารชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 4 ปี - จำคุกตลอดชีวิต และ/หรือปรับตั้งแต่ 80,000 บาท – 5,000,000 บาท
เสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน  3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 บาท  60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเสพจำคุกตั้งแต่ 1 ปี  5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท  100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลัง ประทุษร้าย หรือข่มขืนใจ ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายครอบครอง เพื่อจำหน่าย หรือครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษโทษเป็น 2 เท่าของโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2
( เช่น มอร์ฟีน โคเคน โคเดอีน ฯลฯ )
ผลิต นำเข้า หรือส่งออก อย่างผิดกฎหมายจำคุกตั้งแต่ 1 ปี - ตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท 5,000,000 บาท
จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอย่างผิด กฎหมายจำคุกตั้งแต่ 1 ปี - ตลอดชีวิต และ/หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท - 5,000,000 บาท
เสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 2จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน  3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 บาท  60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือ ใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใดให้ผู้อื่นเสพจำคุกตั้งแต่ 1 ปี  10 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท  1,000,000 บาท
ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเสพจำคุกตั้งแต่ 1 ปี  5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท  100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 3
( เช่น ยาแก้ไอผสมโคเดอีน )
ผลิต นำเข้า หรือ ส่งออก อย่างผิดกฎหมายจำคุกไม่เกิน 20 ปี และ/ หรือ ปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท
จำหน่าย ครอบครองเพื่อจำหน่าย อย่างผิดกฎหมายจำคุกไม่เกิน 5 ปี และ/หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 4
(เช่น อาเซติลคลอไรด์ ฯลฯ)
ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่าย อย่างผิดกฎหมายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี - 15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 1,500,000 บาท
ครอบครอง อย่างผิดกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
(เช่น กัญชา กระท่อม ฯลฯ )
ผลิต นำเข้า หรือส่งออก อย่างผิดกฎหมายจำคุกไม่เกิน 15 ปี และปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท
จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอย่างผิด กฎหมายจำคุกไม่เกิน 15 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
เสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 5จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเสพจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
    
              เมื่อได้ทราบถึงโทษ อันตรายและผลที่เกิดจากยาเสพติดให้โทษ ต่อผู้เสพโดยตรงและส่งผลกระทบไปถึงครอบครัว ผู้ใกล้ชิด ตลอดจนประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงแล้ว เราทุกคนจึงควรช่วยกันป้องกันหรือหยุดยั้งมิให้ยาเสพติดลุกลามกว้างขวางออกไป เริ่มที่ตนเองก่อนโดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เอาใจใส่และให้ความอบอุ่นแก่ครอบครัวเพื่อป้องกันให้สมาชิกในครอบครัวห่างไกลจากยาเสพติด และร่วมมือในการให้เบาะแสแก่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเพื่อปราบปรามยาเสพติดให้สิ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น